
ปลากัด สัตว์ประจำชาติ
ปลากัด สัตว์ประจำชาติ สำหรับคนหลงรัก ปลากัด คงได้ติดตามข่าว เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่า กรมประมงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาผลักดันให้ “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจําชาติไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลากัดไทยคาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้คงได้ทราบมติ ครม.ที่แน่ชัด นาทีนี้ทำให้สัตว์น้ำสวยงามอย่างปลากัด เป็นที่น่าสนใจ และกำลังน่าค้นหามากขึ้น เสมือนดาราดังที่กำลังประกายส่องแสง
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติสมบูรณ์อย่างมาก รวมถึงสัตว์นานาชนิดที่อาศัยอยู่รวมกัน จึงทำให้เกิดแนวทางการอนุรักษ์ในหลายรูปแบบขึ้น รวมทั้งการตั้งตำแหน่งให้กับสัตว์ ก็เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์อีกทางหนึ่งด้วย โดยในขณะนี้เรามี “ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองประจำชาติของเรามาช้านาน และยังมีสัตว์ปีกประจำชาติ อย่าง “ไก่ฟ้าพญาลอ” ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษประกอบคำว่าสยามไว้ด้วยว่า Siamese Fireback
แต่ขณะนี้แสงนีออนกำลังสาดส่องมาที่ปลากัด ต้องยกเวทีให้เราได้เรียนรู้ถึงเหตุผลกันสักหน่อยว่า ทำไม “ปลากัด” จึงเหมาะที่จะเป็น “สัตว์น้ำประจำชาติไทย” เรื่องราวของปลาที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
เหตุผลข้อที่ 1. ปลากัดอยู่คู่เมืองไทยมาก่อนที่คนยุคเราจะเกิดเสียอีก
ปลากัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siamese Fighting Fish เพราะมีการค้นพบต้นกำเนิดของปลากัดที่เมืองไทยของเรานี่เอง ซึ่งอยู่คู่กับเมืองไทยมาราวๆ 700 กว่าปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปลากัดมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า ปลากัดทุ่ง หรือ ปลากัดป่า เพราะเกิดมาเกือบจะถึงพันปีแล้วนี่เอง ถือว่าปลากัดมีคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยที่เคลื่อนไหวได้ และมีชีวิต ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ สังคม รวมไปถึงในแง่ของเศรษฐกิจ ที่เราจะพูดถึงกันต่อไป
เหตุผลข้อที่ 2. ปลากัด คือ มรดกของไทยที่โด่งดังไปไกลยังต่างประเทศ
หลังจากเป็นที่นิยมในเมืองไทยอยู่พักใหญ่ และได้มีคนนำปลากัดไปเลี้ยงฝั่งยุโรปราวๆ ในปี พ.ศ. 2414 และในประเทศฝรั่งเศส ตามมาด้วยเยอรมนี และขยับไปสู่สหรัฐอเมริกา โดยมีหลักฐานปรากฏว่า บทความอันโด่งดังชื่อ “The Fighting Fish of Siam” เขียนโดย ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ บทความของเขาส่งผลให้ปลากัดของไทยกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะลักษณะเด่นที่สวยงาม และความโดดเด่นของนิสัย ความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนปลาชนิดใดๆ ในโลก จึงทำให้ใครๆ ก็สนใจปลากัดมากมายขนาดนี้
เหตุผลข้อที่ 3. ปลากัดที่เกิดมาพร้อมกับลักษณะที่สุดแสนจะน่าทึ่ง
เพราะความนิยมชมชอบกันอย่างไม่สิ้นสุดนี่เอง ที่ทำให้ปลากัดไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงปลาสวยงามเท่านั้น แต่เพราะนิสัยหวงอาณาเขตที่สร้างเลือดนักสู้ให้ปลากัด จนทำให้การเลี้ยงปลากัด เกิดวัตถุประสงค์ไปในเชิงการพนันไปซะได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ปลากัดเป็นสัตว์ดุร้ายหรือก้าวร้าว ก็แค่หวงอาณาเขต อย่าล้ำเส้นเข้ามาแค่นั้นเอง โดยเฉพาะเมื่อตัวผู้สองตัวพบกัน สู้จนบาดเจ็บไปข้างหนึ่งเลย (จากนั้นก็จะซ่อมแซมตัวเองได้ตามธรรมชาติ) และวิธีการผสมพันธุ์สุดน่าทึ่ง ปล่อยให้ปลากัดตัวผู้กับตัวเมียจ้องตากันสัก 3 -10 วัน ให้ตัวเมียมีไข่ท้องป่อง แล้วจึงนำจับมาอยู่ด้วยกัน หน้าที่ต่อมาของตัวผู้ คือ การก่อหวอด แล้วรัดตัวเมียให้ไข่ออกมา ตัวผู้ก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไป ไข่ที่ได้รับการผสมจะจมลงสู่ก้นอ่างหรือภาชนะ ตัวผู้ก็ยังคงทำงานหนักตามลงไปใช้ปากอมไข่ทีละฟอง เพื่อนำขึ้นมาพ่นใส่หวอดที่ก่อไว้ ได้ลูกแล้วก็จะขวางไม่ให้ตัวเมียเข้าใกล้ไข่ เพราะตัวเมียก็จะกินไม่เลือก จึงขอทำหน้าที่พ่อตามลำพังดีกว่า
เหตุผลข้อที่ 4. ปลากัด คือ สินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาล
ลองเดากันดูว่า ปลากัด ปลาสวยงามสายพันธุ์เนี่ย สร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณเท่าไร….. เดาออกไหมคะ ข้อมูลจากกรมประมงระบุตัวเลขกลมๆ ไว้ราวๆ 1,000 ล้านบาทต่อปี!!! แต่ยังไม่พอนะคะ ปลากัดยังไปได้ไกลกว่านั้น เพราะมีการคาดการณ์กันว่า การขยายตัวส่งออกที่มากขึ้น จะทำให้เจ้าปลากัดตัวเล็กๆ สร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้ถึงราวๆ 3,000 ล้านบาทต่อปี !!! โดยมีกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐ และสิงคโปร์ เหตุผลทั้ง 4 ข้อนี้ ทำให้เราต้องอึ้ง และยอมรับโดยไร้ข้อกังขาว่า ปลากัด คือ สัตว์น้ำที่น่ามหัศจรรย์จริงๆ…